ช่วงเวลาสี่สัปดาห์นับจากนี้คือการการขัดเกลาตัวเองเพื่อยกระดับจิตใจให้อยู่เหนืออคติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สัปดาห์แรก
31 ก.ค. 2550
– ไม่เห็นผลงาน อย่าเพิ่งวิจารณ์, ยังไม่ได้ลองชิม อย่างเพิ่งบอกว่าไม่อร่อย
– “ติเพื่อก่อ” นั้นเป็นอย่างไร
การติดเพื่อก่อ ควรเริ่มจากที่ได้สัมผัสจนเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องนั้นก่อน จากนั้นวางใจให้อยู่ตรงกลางระหว่างความชอบและความไม่ชอบ ส่วนที่ดี ก็บอกว่าดี ส่วนที่ควรปรับปรุง ก็ควรไตร่ตรองด้วยหลักการและเหตุผลอย่างถี่ถ้วน แล้วเริ่มอธิบายด้วยความปรารถนาดีว่า เมื่อปรับปรุงแล้วจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของงานและผู้ชมผลงาน
1 ส.ค. 2550
– หากงานที่เข้ามามันยาก ไม่เคยทำมาก่อน ไม่คุ้นเคย แต่เป็นงานที่อยู่ในสายงานที่มุ่งมั่นเดินหน้าไปอยู่แล้ว ก็ต้องเต็มใจที่จะเรียนรู้เพื่อทำงานนั้นให้สำเร็จ อย่าท้อถอย เพียงเพราะเห็นว่าไม่ใช่แนวทางที่อยากทำ เพราะนี่เป็นโอกาสในการฝึกฝนตัวเอง ทั้งด้านความรู้ความสามารถ และความอดทนในการทำงาน หากสามารถหาที่ปรึกษาได้ ก็ยิ่งวิเศษ เพราะจะได้ความรู้จากผู้มีประสบการณ์มาก่อน เรียนรู้จากเขาเพื่อ พัฒนาตัวเอง …สุดยอดของการเรียนรู้ คือเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์
– หากต้อง “ติเพื่อก่อ” ในงานที่มีอคติอย่างรุนแรง เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ไม่ดีในอดีต ควรทำอย่างไร
ควรให้อภัย ให้อภัยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต อย่านำมาคิดหมกมุ่น เพราะจะเป็นการสะสมแต่ความรู้สึกที่ไม่ดีเอาไว้ จนวันหนึ่งอาจจะระเบิดออกมา นั่นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างไร ไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาปัญญา เมื่อ “ใจเบา” แล้ว ก็เริ่มทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาติเพื่อก่อได้ต่อไป
2 ส.ค. 2550
– จะทำอย่างไรให้ “ใจเบา” ต้องหัดมองโลกใหม่ เพราะธรรมชาติของคนมักจะติดมองแต่่แง่ร้าย
สัปดาห์ที่สอง
10 ส.ค. 2550
– มนุษย์ต้องการสาระของชีวิตมากกว่าความสุขจากวัตถุ
สัปดาห์ที่สาม
19 ส.ค. 2550
– การนับถือตัวเองกับการยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูนั้นใกล้กันนิดเดียว จะมีก็แต่สัมมาทิฏฐิเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องแบ่งให้แยกจากกันได้อย่างชัดเจน
– การยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองถ่ายเดียว เพราะเห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่รู้ที่เชื่อและที่กระทำอยู่นั้นถูกต้องเสมอโดยไม่สนใจถึงผลกระทบต่อสังคมรอบตัว
– แต่การนับถือตัวเองนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานของระเบียบ วินัย มโนธรรม คุณธรรม จริยธรรม เริ่มต้นที่ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ของตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด และยึดมั่นในคุณงามความดี โดยไม่กระทำความชั่วใดๆ อย่างเด็ดขาดแม้จะมีเหตุผลที่สามารถกระทำได้ เพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราวบางประการ
– การนับถือตัวเองจะเป็นแรงผลักดันให้มีความคิดที่ตั้งอยู่แต่บนความดีและการทำความดี ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา จะเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้ละเอียดยิ่งขึ้นได้
– เมื่อขัดเกลาจิตใจแล้วต้องเข้ารับการทดสอบจากสถานการณ์จริงต่างๆ มากมายเพื่อให้มีความมั่นคงอยู่ในความดีของพรหมวิหารสี่ อันที่เป็นที่อยู่ของพรหม หรือผู้มีใจสูงนั่นเอง
– จิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด การนับถือตัวเองคือการนับถือจิตวิญญาณของตัวเอง ดังที่ท่านพุทธทาสสอนว่าเราต้อง “ยกมือไหว้ตัวเองให้ได้อย่างสนิทใจ”
สัปดาห์ที่สี่
26 ส.ค. 2550
– “การให้” คืออะไร
การให้คือการแบ่งปันสิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ แรงกาย แรงใจ ไปจนถึงวิชาความรู้แก่ผู้ที่ต้องการ การให้ที่ดีต้องให้ก่อนที่จะสายเกินไป ต้องให้โดยไม่หว้งผลตอบแทน หลังจากให้แล้ว ผู้รับจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ให้ไป ก็ไม่ต้องเก็บมาคิดยึดมั่นถือมั่น เพราะนั่นเป็นการหวังผลจากการให้ ขณะที่ให้ต้องตั้งจิตว่างแล้วรวบรวมสิ่งที่จะให้ส่งไปถึงผู้รับ ไม่ยินดียินร้ายต่อผลที่จะตามมาเพราะได้คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา จนพิจารณาให้เห็นถึงสภาวะธรรมในเหตุปัจจัยและผลลัพธ์ ด้วยเหตุทั้งหลายย่อยต้องเกิดผล และด้วยผลเล่านี้ย่อมเกิดจาดเหตุปัจจัยที่เพียบพร้อมแล้ว
– ก้าวต่อไปคือการปักธงให้มั่นว่าจะต้องบำเพ็ญ “การให้” ให้มาก หนึ่งนั้นเพื่อลดอัตตา ตัวกูของกู สองนั้นเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ที่จะได้รับ
– การรักษาจิตให้ว่างไว้คือแก่น ไม่ว่าจะทำอะไร นอกจากจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้ว ต้องรักษาจิตให้ว่าง เป็นการทำงานเพื่อผลของงาน ไม่ใช่การทำงานเพื่ออามิสใดๆ การทำงานเป็นเหตุ ผลงานคือผล การตอบแทนเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมาย
– คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
27 ส.ค. 2550
– ธรรมชาติสร้างให้คนมีหูสองข้าง แต่มีปากเพียงหน่วยเดียว หมายความว่าธรรมชาติสร้างให้คนเราต้องฟังมากกว่าพูด (เป็นสองเท่า) ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด แต่หลังจากพูดไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา – คิดทุกคำที่พูด แต่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกคำที่คิด
– เข้ากับนิสัยข้อหนึ่งในเจ็ดข้อของอุปนิสัยของผู้ที่ประสิทธิภาพสูงที่ว่า Seek first to understand, Then to be understood หมายความว่าการฟังนั้นต้องมาก่อน และต้องฟังให้เข้าใจคนอื่นก่อน ก่อนที่จะพูด เพื่อพูดให้คนอื่นเข้าใจ นั่นมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาผลประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกคนได้ประโยชน์กันทั้งหมด – Think Win/Win
– การพูดมากเป็นการส่งจิตออกนอก การปิดวาจาคือการเพ่งพิจารณาอยู่แต่เพียงภายใน เพื่อควบคุมจิตใจของตัวเอง เพื่อละความต้องการทั้งหลาย เพื่อพิจารณาการเกิดดับของความคิด ความรู้สึกข้างใน เพื่อเจริญสติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
– พูดให้น้อย ฟังให้มาก พิจารณาให้มาก