Tag Archives: movie

what movie I’ve seen.

DUNKIRK (2017)

DUNKIRK (2017)

ตั้งแต่เปิดตัวภาพยนต์เรื่องล่าสุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว ผมก็ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่ห่าง ๆ เนื่องจากตัวอย่างแรกที่เปิดออกมาไม่รู้เลยว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลไว้ล่วงหน้าเพราะไม่มีแรงจูงใจขนาดนั้น

จนกระทั่งได้กำหนดวันฉายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วก็เริ่มเปิดรับข้อมูลมากขึ้นเช่นดูคลิ้ปตัวอย่างฉบับต่อมารวมถึงดูคลิ้ปสัมภาษณ์นักแสดงบ้างนิดหน่อย จนเริ่มได้ข้อมูลพื้นฐานบ้างแล้วว่าเป็นเรื่องราว ณ สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสัมพันธมิตรกับเยอรมัน เหตุการณ์ที่ทหารมากถึง 4 แสนนายถูกกดดันจนต้องมารวมกันอยู่ที่หาดดังเคิร์กเพื่อหาทางกลับบ้าน

ข้อมูลทางเทคนิดที่ได้รับคือโนแลนตั้งใจถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนี้ด้วยระบบ IMAX ทั้งเรื่อง นี่เองจึงเป็นเหมือนจุดประกายว่าต้องเลือกชมในโรงที่ฉายระบบนี้เท่านั้นจึงจะได้สัมผัสความตั้งใจของผู้กำกับอย่างแท้จริง

วันนี้จึงเลือกไปชมในเซ็นทรัล เวสเกท ที่มีโรงฉายระบบ IMAX อยู่โรงหนึ่ง สะดวกกว่าเดินทางไปยังโรงอื่น ๆ ในเมืองเป็นไหน ๆ แถมก็ยังเป็นโรงที่ใหม่กว่าอีกด้วย ไม่ได้ฉายในระบบสามมิติแบบ Ghost in the Shell (2017) ค่าตั๋วจึงถูกกว่าสามสิบบาท อยู่ที่ 220.- บาทขาดตัว

ที่นั่งหมายเลข G16 ในระบบจองตั๋วไม่ได้แสดงว่าแถวนี้อยู่ตรงทางเดินพอดี  บังเอิญแถวถัดไปตรงกลางนี้มีคนซื้อไปแล้ว กลายเป็นว่าจุดนี้นั่งสบายกว่าเพราะจะยืดขาอย่างไรก็ไม่รบกวนคนข้างหน้า

เรียกว่าไปดูแบบตัวเปล่า ตั้งใจจะให้ผู้กำกับพาไปทุกที่ที่ต้องการแล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตัวหนังแบ่งเป็นเหตุการณ์สามส่วนหลักจากสามมุมมองคือ จากหาดดังเคิร์ก จากเครื่องบินขับไล่อังกฤษที่ปฏิบัติการร่วม และจากเรือประมงที่เดินทางจากชายฝั่งอังกฤษไปยังดังเคิร์ก โนแลนพาเราไปลุยหาดทราย ดำน้ำ บินสู้กับเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิด และโดยสารไปกับชาวประมงผู้เสียลูกชายไปกับภารกิจการบินเมื่อเร็วๆ นี้เอง

หนังบรรจงบรรจุเราให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ ถูกกดดัน ถูกท้าทาย และถูกทดสอบต่าง ๆ นานา ทั้งโดยภาพที่ฉายอยู่เบื้องหน้า เสียงประกอบความถี่ต่ำจากเบื้องล่าง ล้วนตั้งใจพาความรู้สึกของเราให้ติดลบลงไปทีละน้อย ๆ แม้จนสุดท้ายหนังกำลังจะจบ โนแลนพยายามพากลับไปสู่ความสงบสุขในบั้นปลายก็อยากบอกเลยว่าคุณทำไม่สำเร็จนะ ผมยังรู้สึกว่ายังอยู่ที่ก้นเหวที่คุณพาไปทิ้งไว้อยู่เลย

บทและพล็อตเรื่องบอกได้คำเดียวว่าไม่มีอะไรเลย มาทราบข้อมูลภายหลังว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับเองที่ต้องการพาเราไปร่วมเหตุการณ์จริงๆ มากกว่า ไม่ว่าจะโดนทิ้งระเบิดใส่ ถูกตอปิโดยิงจบเรือล่ม ถูกเครื่องบินรบยิงจนต้องลงจอด จมน้ำอยู่ใต้ท้องเรือที่มีรู้รั่ว หรือกำลังแล่นเรือเข้าไปช่วยนายทหารที่เพลี้ยงพล้ำ ได้ประสบการณ์ร่วมอย่างแท้จริง

อย่าหวังว่าจะได้พบความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศแบบหนังเรื่องก่อนๆ ของเขาโดยเด็ดขาด แต่ก็ต้องขอแนะนำไว้ด้วยเลยว่าโนแลนไม่ได้มีดีเพียงเรื่องพวกนั้น เรื่องคุณภาพการผลิตตั้งแต่การเขียนบท การกำกับ การถ่ายทำ ทุกอย่างเป็นไปตามคุณภาพงานของเขาอย่างแท้จริง

สิ่งหนึ่งที่เปล่งประกายอยู่ตลอดทั้งเรื่องก็คือปฏิภาณไหวพริบและอารมณ์ร่วมของตัวแสดงทุกคน ไม่ได้โดดเด่นล้ำหน้าสถานการณ์ ไม่ได้ทำเท่ให้หล่อหรือดูดี แต่มีสมองที่จะเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริงแบบคนธรรมดา อย่างนี้ต่างหากที่เป็นลายเซนต์ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน

หนังยาวเพียง 106 นาที ควรเตรียมตัวให้ดีจะได้ไม่ต้องลุกจากที่นั่งไปทำธุระอื่นใดให้รบกวนผู้ที่นั่งชมอยู่รอบข้าง จากนั้นก็ปลดปล่อยตัวเองให้ผู้กำกับพาไปสัมผัสเหตุการณ์ที่คุณคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสจริงด้วยตัวเอง

ส่วนผมได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงกลับมานั่งศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดังเคิร์กและเบื้องหลังการทำงานของคณะผู้สร้างภาพยนต์เรื่องนี้อีกสักหน่อย เพื่อประดับความรู้

เพิ่มเติม ​26 ก.ค. 2560

ดูรอบแรกไปแล้วได้ทราบข้อมูลเสริมมาอีกว่าหากต้องการรายละเอียดของภาพที่ถ่ายทำด้วยระบบ IMAX แบบ 70 มม. ต้องไปดูในโรงที่ฉายด้วยระบบนี้อย่างแท้จริง และสำหรับประเทศไทยมีเพียงโรงเดียวเท่านั้น

วันนี้จึงรีบไปให้ทันรอบแรก 10:30 ณ สยามพารากอน ยอมลงทุนกับค่าตั๋วที่ไม่มีส่วนสดพิเศษวันพุธเสียด้วย ที่นั่ง G19 อยู่กลางโรงพอดิบพอดี นับว่าคุ้มค่าเงิน 450.-  บาทขาดตัว

รอบนี้ไม่ถูกกดดันด้วยอารมณ์ของหนังอีกแล้ว แต่ได้รายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมมาอีกเยอะมาก รวมถึงรอยบนแผ่นฟิล์มก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

ครั้งนี้เข้าใจแล้วว่าเหตุการณ์ทั้งสามคือหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ท่าเรือ ณ ดังเคิร์ก หนังวันก่อนที่ชายฝั่งอังกฤษ และหนึ่งชั่วโมงก่อนบนน่านฟ้านั้น สอดรับและผสานกันอย่างไร โนแลนตั้งใจเขียนบทให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ส่งและรับสารต่อเนื่องกันอย่างไรจนเป็นเนื้อเดียวกันและยังคงรักษาบริบทของแต่ละส่วนได้อย่างเหนียวแน่น คิดว่าผู้กำกับและเขียนบทที่ทำอย่างนี้ได้มีเพียง คริสโตเฟอร์ โนแลน และ ปัค ชาน วุค สองคนเท่านั้น

เข้าใจความรู้สึกของคุณดอว์สัน ผู้สูญเสียลูกชายนักบินของ Royal Air Force ไป จึงต้องการเข้าไปช่วยนักบินเครือง Spitfire ที่ลงจอดฉุกเฉินในน้ำ ได้เห็นถึงสภาพทางจิตวิทยาของพลทหารทั้งหลายใต้ท้องเรือหาปลารั่ว ๆ ที่กำลังจะได้แล่นออกจากฝั่งเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงพอแล้ว เรียกว่าได้เห็นตัวตนของตัวแสดงแต่ละตัวมากขึ้นนั่นเอง

อีกส่วนที่ถือว่าคุ้มค่าการลงทุนวันนี้คือได้ดูฉากบนท้องฟ้าที่เกิดขึ้นทุกฉาก มีตั้งแต่ความกดดันตื่นเต้น ความสวยสดงดงาม และความประทับใจ โดยเครื่องบิน Spitfire กับแสงธรรมชาตินั้นสวยจริง ๆ และฉากท่าเรือจากมุมสูงนั้นระคนไปด้วยอารมณ์มากมายเช่นกัน

รอบที่สามคงนั่งดูแผ่นบลูเรย์ที่บ้านพร้อมกันข้อมูลเบื้องหลังที่จะบรรจุมาให้อีกมากมาย หวังว่าอย่างนั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

SaveSave

SaveSave

Lady Maiko (2014)

Lady Maiko (2014)

ตามโมเนะจัง Mone Kamishiraishi มาจากหนังเรื่อง Chihayafuru ที่ฉายปีนี้ทั้งสองภาค ด้วยประทับใจการแสดงแม้เพียงเล็กน้อยของเธอในเรื่องนี้ จากนั้นก็ได้รู้ว่าเธอคือผู้พากษ์เสียงมิซึฮะ นางเอกในอนิเมะแห่งปีเรื่อง Kimi no wa na. หรือ Your name. แถมได้ฟังเพลงประกอบ Nandemonai ya ที่เธอร้องในรายการโทรทัศน์ด้วยแล้ว ยิ่งประทับการใช้เสียงของเธอไม่น้อยกว่าการแสดงเลย

ฟังมาว่าโมเนะจังได้รับเสียงชมเชยเรื่องการแสดงอย่างมากจากหนัง Lady Maiko จึงจดชื่อนี้ไว้หวังว่าจะได้ดูสักวัน และในที่สุด ‘ฝัน’ ก็เป็นจริงเมื่อมีคนแปลบทพูดเป็นภาษาไทยอย่างละเอียด รวมไปถึงเนื้อร้องของเพลงทุกเพลง แถมยังแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ไว้ในฉากนั้นๆ มากมายอีกด้วย

วันขึ้นปีใหม่นี้จึงเหมาะจะได้นั่งลงดูหนังดีๆ สักเรื่อง

Lady Maiko เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ไมโคะ’ ผู้ผ่านการฝึกฝนศิลปะด้านต่างๆ อย่างหนักจนชำนาญจึงจะได้แสดงต่อหน้าแขกผู้มาชม โมเนะจังเองก็ต้องผ่านรอบคัดเลือกนักแสดงที่มากถึง 800 คน กินเวลานานถึง 6 เดือน เพื่อแสดงเป็น “ฮะรุโคะ” สาวน้อยจากจังหวัด “คาโงะชิมะ” ผู้เดินทางมายัง “เคียวโทะ” เพื่อทำ ‘ความฝัน’ ที่อยากเป็นไมโคะให้เป็นจริง

เคียวโทะคือเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันยังคงรักษาวัฒนธรรมที่งดงามต่างๆ ไว้ได้เป็นอย่างดี จากที่ได้ดูในหนังจะพบว่าตั้งแต่ภาษา สำเนียง การออกเสียงสนทนา ไปจนถึงการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ การดำเนินชีวิตประจำวันด้านต่างๆ ล้วนแฝงความภูมิใจของคนเคียวโทะผู้เกิดและเติบโตที่นี่อย่างมาก ใครที่ย้ายมาเพื่อทำหน้าที่การงานต่างก็ต้องพัฒนาตนเองให้กลมกลืนกับคนท้องถิ่นด้วย

หนังเปิดเรื่องมาไม่นานก็แทบปิดทิ้งเนื่องจากไม่นิยมหนังเพลงแบบฮอลลี่วู้ดเอาเสียเลย แต่น้ำเสียงใสกังวาลของโมเนะจังทำให้นักฟังเพลงอย่างผมต้องมอบโอกาสกับหนังเรื่องนี้ต่อไปอีกหน่อยและก็ไม่ผิดหวัง Lady Maiko ไม่ใช่หนังเพลงที่ดูแล้วเคอะเขินอย่างที่รังเกียจจริงๆ เนื้อเพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่องได้ผสมกับการแสดงที่น่ารักและเป็นธรรมชาติทำให้ยิ่งเข้าใจประเด็นและรายละเอียดต่างๆ ที่หนังต้องการสื่อออกมาได้ทั้งหมด

หนังนำเสนอพัฒนาการของฮะรุโคะผ่านกิจกรรมการฝึกฝนอย่างหนักมากมายราวกับจะบอกว่าชีวิตไม่ว่าจะทำอะไรก็ย่อมต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อนทั้งนั้น และอุปสรรคทั้งด้านร่างกายและจิตใจก็จะแทรกเข้ามาทดสอบความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายของเราอยู่เนืองๆ หนังก็แทรกดรามาที่ทดสอบตัวฮะรุโคะไว้อย่างพอเหมาะพอดี โดยเรื่องราวของผู้คนรอบข้างต่างก็มีความหมายต่อชีวิตของฮะรุโคะทั้งนั้น ไม่มีใครด้อยไปกว่าใครตั้งแต่อาจารย์โฮชิ (Hiroki Hasegawa) ผู้เดิมพันชีวิตไว้กับการฝึกให้ฮะรุโคะเป็นไมโคะและลูกศิษย์ผู้เป็นลูกชายของไมโคะรุ่นใหญ่ที่เห็นด้านมืดของวงการนี้มาทั้งชีวิต และทุกคนที่ร้านชิโมะฮะชิเคน ที่ฮะรุโคะมาสมัครเข้าทำงาน

ฮะรุโคะผู้อาศัยอยู่กับตาและยายที่คาโงะชิมะ เป็นกำพร้าตั้งแต่เล็ก เห็นรูปแม่ในชุดไมโคะก็ต้องการเจริญรอยตาม และสุดท้ายก็ได้เปิดตัวเป็นไมโคะอย่างมีเกียรติ ณ วันที่ 24 มกราคม อึ้งเหมือนกันเพราะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ Apple เปิดตัว Macintosh สุดท้ายแล้วฮะรุโคะจะได้รู้ความลับอะไรเพิ่มเติมติดตามกันได้จากหนังเรื่อง Lady Maiko นี้

เป็นหนังฟอร์มเล็กที่สร้างได้ดี แต่ละฉากมีรายละเอียดเรื่องของวัฒนธรรมแทรกอยู่เสมอ เพลงที่แต่งขึ้นเพื่อประกอบก็ไม่เลี่ยน ฟังแล้วสนุกสนานและประทับใจทุกเพลง แม้ไมโคะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เป็นแล้วยังคงมีภาระหน้าที่ที่ไม่เบาไปกว่าตอนหัดเพื่อก้าวไปให้ถึง ‘เกโคะ’ หรือเกอิชาที่เราคุ้นเคย มีเกียรติและความท้าทายตัวตนคือหน้าที่สำคัญในการรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมนี้ไว้สืบต่อไป

หนังดีสำหรับสร้างกำลังใจและให้แง่คิดสำหรับปีใหม่เรื่องนี้ต้องขอบคุณ Pondloso FanSub ผู้จัดทำเพื่อประกอบการศึกษาและไม่หวังผลประโยชน์ทางการค้า จึงขอสะกดคำภาษาญี่ปุ่นต่างๆ ตามแบบคำบรรยายไทยในเรื่องนี้เป็นการคารวะ

ข้อมูลภาพยนตร์

  • Movie: Lady Maiko (English title)
  • Romaji: Maiko wa Lady
  • Japanese: 舞妓はレディ
  • Director: Masayuki Suo
  • Writer: Masayuki Suo
  • Producer: Ken Tsuchiya, Takao Tsuchimoto, Shintaro Horikawa
  • Cinematographer: Rokuro Terada
  • Release Date: September 13, 2014
  • Runtime: 135 min.
  • Genre: Comedy / Musical / Award Winning
  • Distributor: Toho
  • Language: Japanese
  • Country: Japan

ข้อมูลเพิ่มเติม

หนังของนักทรัมเป็ตแจ๊สในปีนี้

หลังจากที่ได้ดูหนังตัวอย่างอัตชีวประวัติของ Miles Davis ไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว วันนี้นั่งดูแอป Trailers บน Apple TV (4th Gen) ก็ได้พบกับหนังอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

Born to Be Blue (2016)

เรื่องราวชีวิตของ Chet Baker นักทรัมเป็ตแจ๊สร่วมสมัยอีกคนที่ดูแล้วไม่หวือหวาเท่าแต่ก็ฝากขื่อไว้ในวงการเพลงแจ๊สพอสมควร เพลงยอดนิยมของเขาคือ My Funny Valentines และ ORIS ผู้ผลิตนาฬิกากลไกได้สร้าง Oris Chet Baker Limited Edition ขึ้นเมื่อปี 2012 โดยมีเครื่องหมายบอกเวลาเป็นโน้ตดนตรีห้องแรกๆ ของบทเพลงนี้

ข้อมูลประกอบ

ส่วนเรื่องที่กล่าวไว้แล้วก่อนนี้คือ Miles Ahead (2016)

ความรู้สึกเมื่อแรกดูนั้นคือไม่น่าเชื่อว่าชีวิตของ Miles จะหวือหวาขนาดนี้

หนังอัตชีวประวัตินักดนตรีจากฮอลลี่วู้ดที่เจอส่วนใหญ่เป็นชีวิตของนักดนตรีผิวดำ คงเนื่องจากในสังคมของเขา คนกลุ่มนี้ต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้ได้แสดงศิลปะด้านดนตรีอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกปิดกั้นจากอคติใดๆ แต่นักดนตรีแจ๊สที่นั่นเองก็ไม่ได้ผูกขาดว่าต้องผิวดำเท่านั้น แม้รากเหง้าที่พอจะรู้จักแนวดนตรีจะบอกว่าอย่างนั้น ก็อย่างที่เห็น ดนตรีไม่มีพรมแดนอย่างแท้จริง

ข้อมูลประกอบ

Chet Baker เป็นคนผิวขาว ส่วน Miles Davis เป็นคนผิวดำ ทั้งคู่อยู่ร่วมสมัยกันในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน น่าสนใจว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้จะกล่าวถึงอีกฝ่ายอย่างไรบ้าง นอกจากความชัดเจนเรื่องจิตวิญญาณด้านดนตรีของทั้งคู่

ที่สำคัญคือเราจะได้ดูหนังทั้งสองเรื่องในปี 2016 เดียวกันนี้เสียด้วย พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

แถมท้ายด้วยนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงและนักดนตรีแจ๊สฝ่ายหญิงที่จะได้ดูอีกเรื่องในปีนี้เช่นกัน

NINA (2016)

จิตวิญญาณดนตรีที่เข้มแข็งต่างก็ต้องผ่านการต่อสู้มาแล้วทั้งนั้นจริงๆ

ข้อมูลประกอบ

 

steve jobs (2015)

steve jobs (2015)

เมื่อได้กำหนดฉายที่แน่นอนแล้ว Apple Fan อย่างผมก็ต้องรีบหาเวลาไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยพลัน ยิ่งได้รอบแรกของโรงใกล้บ้านยิ่งดี และแล้ววันที่ 21 ม.ค. 2559 รอบ 12:30 ก็มาถึง

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับรางวัลลูกโลกทองคำ นักแสดงสมทบหญิงเป็นของ Kate Winslet (Titanic, 1997) และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นของ Aaron Sorkin (The Social Network, 2010) ขณะเดียวกันนักแสดงทั้งหมดก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมโดยมี Danny Bolye (Slumdog Millianaire, 2008) ทำหน้าที่วาทยากร ควบคุมวงออเคสตร้าวงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หนังเปิดด้วยฟิล์มเก่าสั้นๆ กับเสียงวอยซ์โอเวอร์ในประโยคที่ไม่คุ้ยเคย เมื่อภาพปรากฏขึ้นจึงได้พบกับ Arthur C. Clake พาลูกชายมาเยี่ยมชมสิ่งแปลกใหม่ของยุคนั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับ hard science ท่านนี้บรรยายไว้ในบทประพันธ์มีความหมายกับมนุษยชาติยิ่งนัก รวมถึงบทสนทนาที่ใช้เปิด steve jobs เรื่องนี้ด้วย

หนังเลือกใช้เหตุการณ์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ 3 ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของ Jobs แสดงโดย Michael Fassbender (A Dangerous Method, 2011) ในปี 1984 เปิดตัว Apple Macintosh ปี 1988 เปิดตัว NeXT Computer และปี 2008 เปิดตัว Apple iMac บทหนังพาให้เห็นทั้งวิธีคิด หลักการและเหตุผลที่ Jobs เลือกตัดสินใจแบบนั้นและยังนำเสนอพัฒนาการในตัว Jobs เองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านไปได้เป็นอย่างดี บอกเลยว่าเป็นหนังที่ดูแล้วเหนื่อยอีกเรื่องหนึ่งเพราะว่าต้องจับคำพูดทุกคำของตัวละครทุกตัว ตามให้ทันและยังต้องสอบทานกับข้อมูลที่รู้จัก Steve Jobs ตัวจริงมาตลอดชีวิตผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เขานำทีมสร้างขึ้น ดีที่ตัวละครทุกตัวพูดด้วยสำเนียงที่ฟังไม่ยาก จึงไม่ต้องทรมานอ่านบทบรรยายภาษาไทยอยู่ตลอดเวลา

ตัวละครที่วนเวียบอยู่รอบตัว Jobs ตั้งแต่ Joanna Hoffman รับบทโดย Kate Winslet ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งอยู่ข้างๆ เขาตลอดเวลา Steve Woziak ผู้ออกแบบ Apple I และ Apple ][ และร่วมก่อตั้ง Apple Computer Inc. รับบทโดย Seth Rogan (The Interview, 2014) Andy Hertzfeld วิศกรคนสำคัญในทีมงานสร้าง Macintosh รับบทโดย Michael Stuhlbarg (A Serious Man, 2009) ต่างมีบทบาทที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเนื่องจากบทหนังพาพวกเราไปรู้จักทั้งหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัวที่ทุกคนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

รวมไปถึงบทบาทของ Chrisann Brennan แฟนของ Jobs ผู้ให้กำเนิด Lisa ลูกสาวคนแรกของทั้งคู่ที่ต่อมา Jobs ตั้งเป็นชื่อคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Graphical User Interface GUI เครื่องแรกของ Apple หลังจากไปดูงานที่ PARC ของ Xerox ที่เมือง Palo Alto ก่อนที่จะมารับหน้าที่นำทีมงานสร้าง Macintosh บทหนังนำเอาชีวิตส่วนตัวของ Jobs ส่วนนี้มาเชื่อมโยงกับช่วงเวลาสำคัญทั้ง 3 ช่วงดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ

ความโดดเด่นของบทภาพยนตร์โดย Aaron Sorkin บอกได้เลยว่าสมบูรณ์แบบทั้งรายละเอียด บุคลิกของตัวละคร ความสัมพันธ์ของตัวละคร การเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไปจนถึงการนำเสนอเรื่องยากอย่างหลักคิดในการออกแบบสิ่งต่างๆ ของ Jobs ให้ออกมากลมกล่อมกินง่ายและยังบันเทิงไปพร้อมกัน บทพยายามฝากคำบอกใบ้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามแบบที่ Jobs คิดไว้ตลอดเวลา อย่างเช่นท้ายสุดที่ Lisa ในวัย 19 ยังคงพกเครื่องเล่นเทปเก่าๆ ติดตัวไว้ฟังเพลงตลอดเวลา คงเดากันได้ไม่ยากว่าพัฒนาการต่อมาของ Apple ภายใต้การกลับมาบริหารอีกครั้งจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์อะไร

ลูกเล่นในบทพูดเป็นอีกเรื่องที่ทำได้อย่างดีสนุกสนานและน่าเรียนรู้

การเล่าเรื่องในรูปแบบที่ Danny Boyle ถนัดคือศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เรียกว่าเป็นลายเซนต์ที่บรรจุไว้ในหนังที่เขากำกับ นอกจากดำเนินเรื่องไปตามห้วงเวลาทั้งสามแล้วยังมีการตั้งคำถามแล้วตอบคำถามอย่างแยบคายให้เห็นอยู่เนือง ถือว่าผู้กำกับชาวอังกฤษผู้นี้ยังคงรักษามาตรฐานการทำงานไว้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้นำเสนอตัวตนของ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple Inc. บริษัทที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยวิสัยทัศน์เพื่อชีวิตของผู้ใช้ที่ดีกว่า ผ่านหลักคิด ความขัดแย้ง ความรับผิดชอบ ให้เห็นได้ว่าคนคนหนึ่งเติบโตไปกับความเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ที่สุด ณ เวลานั้นๆ อย่างไม่เสื่อมคลาย ขณะที่พัฒนาการทางอารมณ์ก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น ภาพของ Jobs กับ Sculley จับมือกันอีกครั้งก่อนงานเปิดตัว iMac มีความหมายทั้งในโลกของภาพยนตร์และโลกแห่งความจริง

นั่นเป็นความสมบูรณ์แบบในส่วนที่เป็น “ภาพยนตร์” แน่นอนว่าเครดิตท้ายเรื่องก็ต้องออกตัวไว้เช่นกันว่ามีการเสริมแต่ง Aaron Sorkin พัฒนาบทขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Steve Jobs เขียนโดย Walter Isaacson และจากคำสัมภาษณ์ด้วยตัวเองเรียกได้ว่าไม่ขาดตกบกพร่องในแง่การประพันธ์ เพียงแต่เราเองเมื่อดูจบแล้วก็ต้องยอมรับด้วยว่านี่คือ “ภาพยนตร์” หมายความว่าไม่จำเป็นที่รายละเอียดทั้งหมดจะแม่นยำตามความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต “ภาพยนตร์” มีหน้าที่รวบรวมศิลปะทุกแขนงเข้าด้วยกันและ steve jobs ก็ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างสมบูรณ์แล้ว แม้ตอนจบจะยังมีคำถามคาใจต่อผู้กำกับและผู้เขียนบทว่าต้องการจะสื่ออะไร

สำหรับผู้สนใจ อยากแนะนำให้หาหนังสือเหล่านี้มาอ่านเพิ่มแล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงความลึกซึ้งในตัวตนของตัวละครต่างๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วในหนัง ที่สำคัญคือได้รู้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาในวงการคอมพิวเตอร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

Platina Data (2013)

Platina Data (2013)

ผมติดตามงานของ Hiroyuki Sawano ผู้ทำดนตรีประกอบอเนิเมะเรื่อง Shingeki no Kyoji หรือ Attack on Titan จนได้มาพบกับหนังเรื่องนี้ในที่สุด  ระหว่างนั้นก็แวะทำความรู้จักกับหนังและซีรียส์แนวสืบสวนสอบสวนอย่าง Strawberry Night และอนิเมะสืบสวนสอบสวนเหมือนกันแต่เป็นโลกอนาคตอย่าง Psycho-Pass ได้ดูทั้งวิธีการการทำคดีและได้เห็นจินตนาการถึงโลกอนาคต และที่ขาดไม่ได้คือได้เสพดนตรีประกอบดีๆ ได้ด้วย

Platina Data เป็นเรื่องราวของระบบวิเคราะห์ข้อมูลระดับ Big Data ที่เคยเห็นการทำงานระดับนี้ขอญี่ปุ่นก็จากช่อง NHK เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังซึนามิเข้าถล่มญี่ปุ่มครั้งล่าสุด

แต่ในหนังเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจาก DNA รหัสพันธุกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังสมาชิกของครอบครัวร่วมสายโลหิตเดียวกันได้อีกด้วย ต่างจาก Psycho-Pass ที่วิเคราะห์สภาพจิตใจแล้วกำหนดเส้นทางให้มนุษย์ในอนาคตเดินเพื่อลดอาชญากรรม Platina Data วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานที่เกิดอาชญากรรมเพื่อนำไปถึงตัวอาชญากร

ตัวเอกของเรื่อง ‘คางูระ’ เป็นนักวิจัย Platina Data คนสำคัญ แต่ด้วยปมที่ฝังลึกของเขาเองทำให้กว่าจะได้รู้ความจริงก็เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว ส่วนตำรวจน้ำดีอย่าง ‘อาซามา’ แม้เหมือนจะไม่ได้แสดงฝีมืออะไรมากมายนักแต่ก็มีส่วนช่วยเติมเต็มให้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เรื่องการแสดงขอละเอาไว้ก่อน เนื่องจากไม่ได้โดดเด่นมากมายอะไร ตัวละครทุกคนเหมือนอยู่ในระดับเดียวกันหมด อย่างนี้ก็ดีที่ช่วยให้มุ่งทำความเข้าใจกับข้อมูลตามท้องเรื่องได้มากขึ้น

บทหนังทำได้ลึกซึ้งทั้งในแง่ข้อมูลด้านชีววิทยา ไปจนถึงข้อมูลด้านจิตวิทยา และขาดไม่ได้ที่จะตีแผ่ความฉ้อฉนของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับทุกสังคมในโลกนี้ “นักการเมือง”

ตัวหนังทำได้เป็น ‘ไซ-ไฟ’ มากกว่าหนังแฟนตาซีจากยักษ์ใหญ่ภาพยนตร์โลกที่มักจะถูกวงการหนังบ้านเราประทับตราให้เป็นหนัง Sci-Fi ไปหมด ทั้งที่มันไม่ใช่

น่าสนใจที่จินตนการถึงโลกอนาคตของญี่ปุ่นยังอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจอะไรลงไป จะผิดจะถูก มีข้อบกพร่อง มีความฉ้อฉลอย่างไร หนังเรื่องนี้แทบจะตีแผ่ความเป็นไปของสังคมได้ดีเลยทีเดียว และเห็นได้ว่าพี่ใหญ่ของญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้หวังดีกับตัวมากนัก ไม่รู้ว่าแค่จิกกัดพอเป็นพิธีหรือตั้งใจกันแน่

แนวหนังไม่ได้แอ็คชั่นอะไรมากมาย อยากให้เครดิตกับจินตนาการที่สามารถผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ บวกด้วยแรงขับดันทางจิตวิทยาที่เข้ากันได้อย่างลงตัว เกิดเป็นหนังที่บันเทิงไม่น้อยเลยเรื่องหนึ่ง

ข้อมูลภาพยนตร์

  • Movie: Platinum Data
  • Romaji: Puratina Deta
  • Japanese: プラチナデータ
  • Director: Keishi Ohtomo
  • Writer: Keigo Higashino (novel), Hideya Hamada
  • Producer: Julie K. Fujishima, Minami Ichikawa
  • Cinematographer: Akira Sako
  • Release Date: March 16, 2013
  • Runtime: 134 min.
  • Genre: Suspense / Mystery / Sci-Fi
  • Distributor: Toho
  • Language: Japanese
  • Country: Japan

และที่ขาดไม่ได้คือ ดนตรีประกอบโดย Hiroyuki Sawano

ข้อมูลเพิ่มเติม